Beyond Gender
ก้าวไปสู่อัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย (Beyond the binary gender)
ระบบสองเพศ (binary gender) กำหนดให้มนุษย์เป็นเพียงสองสิ่ง ไม่เป็นหญิงก็ต้องเป็นชาย ด้วยระบบเพศนี้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจึงถูกเลือกปฏิบัติ คุกคาม และจำกัดการเข้าถึงโอกาส ทรัพยากร และเสรีภาพ ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า “เพศ” ไม่ได้มีลักษณะเป็นกรอบเพศชายและเพศหญิงแต่มีลักษณะเป็นสเปกตรัมที่ละเอียด หลากหลายและลื่นไหล มีผู้คนมากมายที่ถูกระบุและระบุตัวเองว่าเป็นเพศหลากหลายและกำลังต่อสู้เพื่อยุติความรุนแรงและการกดขี่เพียงเพราะการมีอัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และรสนิยมทางเพศไม่ตรงกับระบบสองเพศ
พวกเราเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ การศึกษา การจ้างงาน และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอื่นๆ เพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขาไม่เข้ากับรูปแบบไบนารี แต่พวกเราก็ต่อสู้ด้วยวิธีการที่หลากหลายและด้วยความหวังที่จะพาสังคมก้าวออกจากสังคมระบบสองเพศแล้วก้าวไปสู่สังคมใหม่ สังคมที่ไม่นำเพศมาเป็นส่วนหนึ่งการเลือกปฏิบัติ สังคมที่ทุกเพศอยู่ร่วมกันท่ามกลางโลกที่เป็นธรรมและเท่าเทียม สังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ปลอดภัย และปราศจากอคติ เราสามารถเป็นใครก็ได้ แต่งตัวอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร มาจากไหน เพศสรีระแบบใด แสดงออกแบบไหน ก็ไม่มีใครสามารถมากำหนดตัดสินเราได้ในสังคมใหม่ที่โอบอุ้มความหลากหลายนี้
มาร่วมท้าทายกรอบแนวคิดของระบบสองเพศด้วยการเป็นตนเองอย่างแท้จริง มาร่วมสร้างประวัติศาตร์ความสำเร็จในการรวมตัวชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศเพื่อยืนยันสิทธิ เสรีภาพของพวกเรา ในขบวนพาเหรดบางกอกไพรด์ 2023 วันที่ 4 มิถุนายน เริ่มจากสนามศุภชลาศัยสู่เซ็นทรัลเวิร์ด (ถนนพระราม 1)
เล่าเรื่องโดย น้องแฟรี่ฟันน้ำนม
เรียบเรียงโดย จิราเจต
ก้าวข้ามกรอบของบทบาททางเพศ (Beyond gender roles)
บทบาททางเพศเป็นกำแพงที่ขวางกั้นศักยภาพของมนุษย์ทุกเพศ การทำลายกรอบเหล่านี้คือการเปิดพื้นที่ให้ความฝันและตัวตนของทุกคนเท่าเทียมกัน ในสังคมที่ไม่เท่าเทียมทางเพศมักกำหนดบทบาท พฤติกรรม ทัศนคติ บุคลิก มาตรฐานรูปลักษณ์ ร่างกายตามเพศที่ถูกกำหนดตอนเกิด (assign sex at birth) เพื่อให้บุคคลปฏิบัติตามความคาดหวังของสังคมและวัฒนธรรมนั้น เช่น คนที่เกิดมาพร้อมอวัยวะเพศหญิงมักจะถูกคาดหวังให้มีพฤติกรรมและบุคลิกนุ่มนวล อ่อนโยน เรียบร้อย มีทัศนคติเป็นผู้ตาม ประกอบอาชีพที่ไม่เสี่ยงอันตรายหรืออาชีพที่ต้องใช้กำลัง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกคาดหวังให้กล้าแสดงออกเรื่องเพศและเป็นตัวตลก การกำหนดกรอบบทบาททางเพศทำลาย ศักยภาพ ความฝัน ตัวตนของผู้คนมากมายในสังคม หากใครคนหนึ่งอยากจะใช้ศักยภาพของตนเองสร้างสรรค์นอกกรอบบทบาททางเพศที่สังคมกำหนดไว้ก็จะถูกปฏิเสธ ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคม หรือร้ายแรงกว่านั้นคือการบุลลี่ เหยียดหยาม รังแก หรือลงโทษ หากเราต้องการสังคมที่ความฝัน ตัวตนของทุกคนเท่าเทียมกัน เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ สังคมที่สนับสนุนให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ กำแพงแห่งบทบาททางเพศต้องถูกทำลายลง ความฝันและความสามารถที่แท้จริงของคนทุกเพศจึงจะปรากฏขึ้น
มาร่วมแสดงว่าคุณคือผู้สนับสนับความเท่าเทียมทางความฝันและตัวตน มาร่วมก้าวข้ามกรอบของบทบาททางเพศด้วยการร่วมขบวนแห่งความภาคภูมิใจของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในขบวนพาเหรดบางกอกไพรด์ 2023 วันที่ 4 มิถุนายน เริ่มจากสนามศุภชลาศัยสู่เซ็นทรัลเวิร์ด (ถนนพระราม 1)
เล่าเรื่องโดย adityass
เรียบเรียงโดย จิราเจต
ก้าวพ้นจากการสร้างภาพเหมารวมทางเพศ (Beyond gender stereotype)
ภาพเหมารวมทางเพศเป็นภาพลวงตาที่สังคมสร้างขึ้นจากความเกลียดชังและอคติทางเพศ ภาพลวงตานี้ปิดกั้นโอกาสในการทำความเข้าใจระหว่างมนุษย์ด้วยกันแอง เราอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “กะเทยเป็นคนตลก” “ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือน” “เป็นผู้ชายอย่าร้องไห้” การเหมารวมทางเพศส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของ“ทุกเพศ” จะดีกว่าไหม? ถ้าเราจะได้รับการยอมรับจากความสามารถและตัวตนของเราเองโดยไม่มีอคติทางเพศ จะดีกว่าไหม? ถ้าคำชม คำตำหนิ ความคาดหวัง ของสังคมมาจากตัวตนของเราไม่ใช่เพศ
จะดีกว่าไหม? ถ้ารสนิยมทางเพศและการแสดงออกทางเพศของเราไม่ถูกสังคมนำมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างสนุกปาก มาช่วยกันลบภาพลวงตาการเหมารวมทางเพศและร่วมสร้างสังคมที่มองเห็นคุณค่าของทุกคนจากตัวตนที่แท้จริง หากคุณต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการยืนยันว่าภาพเหมารวมทางเพศนั้นเป็นเพียงภาพมายาที่ควรจะถูกลบให้หมดไปจากสังคม
เราขอเชิญก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพจริงแบบใหม่ให้เกิดขึ้นสังคม ภาพที่เต็มไปด้วยการยอมรับความหลากหลายที่ทรงพลังมากที่สุด ในงานบางกอกไพรด์ 2023 ในวันที่ 4 มิถุนายนเริ่มจากสนามศุภชลาศัยสู่เซ็นทรัลเวิร์ด (ถนนพระราม 1)
เล่าเรื่องราวโดย น้องแฟรี่ฟันน้ำนม
เรียบเรียงโดย จิราเจต
ก้าวผ่านบรรทัดฐานรักแบบต่างเพศชายหญิง (Beyond heteronormativity)
บรรทัดฐานความรักแบบต่างเพศชายหญิงลดทอนคุณค่าของความสัมพันธ์และแสดงความรักที่หลากหลาย การก้าวพ้นไปจากบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศชายหญิงความสัมพันธ์และการแสดงความรักไม่ถูกปิดกั้นจิตนาการถึงการแสดงความรักที่หลากหลายภายใต้ความยินยอมพร้อมใจ (consent) “อ้าว คิดว่าเธอชอบผู้หญิง/ผู้ชาย”
หลายคนที่มีหลากหลายทางรสนิยมทางเพศเคยถูกตั้งคำถามนี้หลังจากเปิดเผยตัวตนทางเพศ (come out) สู่สังคมรอบตัวเพราะสังคมสร้างบรรทัดฐานให้ทุกคนต้องรักเพศตรงข้ามตามกรอบเพศที่มีเพียงชายหญิง บรรทัดฐานนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษย์ในบางวัฒนธรรมจนทำให้เราหลงคิดว่าบรรทัดฐานนี้คือความปกติของมนุษย์ ทำให้ขาดจิตนาการถึงเพศวิถีที่หลากหลายจนเกิดเป็นบรรทัดฐานอีกข้อหนึ่งนั่นคือบรรทัดฐาน “ความเป็นชายและหญิงในความสัมพันธ์” และนำบรรทัดฐานไปทำร้ายคนอื่นด้วยการตัดสิน ล้อเลียน เพศวิถีของคนอื่น เช่น “ออกสาวทั้งคู่แล้วใครเป็นผัวเป็นเมีย?” หรือคู่รักเพศหลากหลายที่เริ่มต้นสร้างครอบครัวก็ถูกตั้งคำถามว่า “เป็นผู้หญิงทั้งคู่แล้วใครรับบทบาทพ่อ ใครรับบทบาทแม่” ทั้งที่จริงแล้วคุณสมบัติของการเป็นผู้ปกครองคือความรับผิดชอบ ความอดทนและความมีเมตตาต่อเด็กซึ่งมีอยู่ในตัวตนของทุกเพศ
ของเชิญมาร่วมยืนยันว่านิยามความสัมพันธ์ บทบาทในความสัมพันธ์ต้องเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นมาเอง เพศวิถีและตัวตนตนของเรา เราต้องมีเสรีภาพและได้รับการรับรองสิทธิให้เป็นผู้กำหนดเอง ในงานบางกอกไพรด์ 2023 ในวันที่ 4 มิถุนายน เริ่มจากสนามศุภชลาศัยสู่เซ็นทรัลเวิร์ด (ถนนพระราม 1)
เล่าเรื่องราวโดย adityass
เรียบเรียงโดย จิราเจต